TH I EN
๒๓ ปางห้ามสมุทร

ปางที่ ๒๓

ปางห้ามสมุทร

(เรียกเต็มว่า ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร)

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้ามเป็นแบบพระทรงเครื่องก็มี

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

เมื่อพระบรมศาสดาทรงโปรดพระยสะแล้ว ต่อมาก็แสดงธรรม โปรดวิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ เสฏฐีบุตร รวม ๔ คน กับมาณพอีก ๕o คน ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนของพระยสะ ให้สำเร็จแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา รวมเป็นอริยสงฆ์สาวก ๖o องค์ด้วยกัน เมื่อพระบรมศาสดาทรงเห็นว่า บัดนี้ควรจะประกาศศาสนาได้แล้ว จึงตรัสเรียกพระสาวกทั้ง ๖o องค์มาแล้ว ทรงรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลายเช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์แก่ประชุมชน เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ แต่อย่ารวมกันไปทางเดียวตั้งแต่สองรูปจงแยกกันไปแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์ สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในนัยน์ตาน้อยมีอยู่ สัตว์พวกนี้ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรมเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นเดียวกัน"

ครั้งทรงส่งพระสาวก ๖o องค์ไปประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ครั้งถึงไร่ฝ้าย ทรงพบภัทรวัคคีกุมาร ๓o คน ได้ทรงแสดงธรรมโปรดกุมารทั้ง ๓o คนนั้น ให้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุในพระศาสนาแล้ว ทรงส่งให้ออกไปประกาศพระศาสนาทั้ง ๓o องค์ เช่นเดียวกับพระสาวกทั้ง ๖o นั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เสด็จเข้าไปประทับอาศัยอยู่ในสำนักของอุรุเวลากัสสป หัวหน้าชฎิล ๕oo ผู้เป็นที่เคารพนับถือของมหาชนในมคธรัฐเป็นอันมาก

ต่อมาก็ทรงทำปาฏิหาริย์นานัปการ เริ่มตั้งแต่ทรมารพญานาคในโรงไฟอันเป็นที่นับถือของชฎิลเหล่านั้นให้มีฤทธิ์แล้ว ประทับอยู่ที่โรงไฟนั้นโดยผาสุกวิหาร ให้ชฎิลทั้งหลายมีความเคารพนับถือในอานุภาพของพระองค์แล้ว ทรงทำปาฏิหาริย์อื่น ๆ อีก ในครั้งสุดท้ายทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำ ซึ่งไหลบ่ามาจากทิศต่าง ๆ ท่วมสำนักท่านอุรุเวลากัสสปมิให้น้ำเข้ามาในที่พระองค์ประทับ พระองค์เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมท้นเป็นกำแพงรอบด้าน ครั้งนั้น ชฎิลทั้งหลายพากันพายเรือมาดู ต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ในที่สุดก็สิ้นพยศทั้งหมดยอมเป็นศิษย์ตั้งอยู่ในพระโอวาท ถึงกับลอยบริขารของชฎิลลงทิ้งเสียในแม่น้ำแล้ว ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระพุทธจริยาที่ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำครั้งนี้ ได้เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนที่นิยมในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าถือเป็นมงคลอันสูงเป็นคุณอัศจรรย์ยิ่งเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า "ปางห้ามสมุทร"

แต่พุทธศาสนิกชนที่หนักในอนุสาสนีปาฏิหาริย์ นิยมในคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่า แม้จะได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นไว้ ก็หาได้ปรารภถึงเหตุนี้ไม่ แต่ได้ปรารภเหตุอื่น จะขอยกมาสาธกดังต่อไปนี้ :-

ในพระนครกบิลพัสดุ์ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าศากยะ ซึ่งพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธบิดา กับพระนครเทวทหะ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าโกลิยะ ซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ทั้งสองพระนครนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโรหินี ชาวนาของเมืองทั้งสองนี้อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหินีทำนาร่วมกันมาโดยปกติสุข สมัยหนึ่งฝนน้อย น้ำในแม่น้ำก็น้อยชาวนาทั้งหมดต้องกั้นทำนบทดน้ำในแม่น้ำนี้ขึ้นทำนา แม้ดังนั้นแล้วน้ำก็หาเพียงพอไม่ เป็นเหตุให้มีการแย่งน้ำทำนากันขึ้น ชั้นแรกก็เป็นการวิวาทกันเฉพาะเพียงบุคคลต่อบุคคล แต่เมื่อไม่มีการระงับด้วยสันติวิธี การวิวาทก็ลุกลามมากขึ้น จนถึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าประหารกัน และด่าว่ากระทบถึงชาติโคตร และลามปามไปถึงราชวงศ์ในที่สุด กษัตริย์ผู้เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระนคร ก็กรีฑาทัพออกประชิดกันยังแม่น้ำโรหินี เพื่อสัมประหารกัน โดยหลงเชื่อคำเพ็ดทูลของอำมาตย์ที่กำลังเคียดแค้นกัน มิทันได้ทรงวินิจฉัยให้ถ่องแท้ว่า เมื่อเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้วควรจะทรงระงับเสียด้วยสันติวิธี อันชอบด้วยพระราโชบายที่รักษาสันติสุขของประเทศ

พระบรมศาสดาทรงทราบ ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปห้ามสงครามแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสอง โดยทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์ โดยไม่พอที่จะต้องพากันล้มตายทำลายเกียรติของกษัตริย์เพราะเหตุแย่งน้ำเข้านาเล็กน้อย ครั้นพระญาติทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจคืนดีกันแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินกลับ

พระพุทธจริยาที่ทรงแสดงตอนนี้ เป็นมงคล แสดงอานุภาพของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง พุทธศาสนิกชนผู้หนักในธรรม เล็งเห็นเป็นคุณอัศจรรย์ยิ่งแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นเรียกว่า ปางห้ามสมุทร บ้าง เรียกว่า ปางห้ามญาติ บ้าง ดังนั้น ปางห้ามสมุทรและปางห้ามญาติจึงเป็นปางเดียวกัน แต่มีบางท่านกล่าวค้านว่า ปางห้ามญาติยกมือเดียว ปางห้ามสมุทรยก ๒ และแล้วก็ถูกบางท่านกล่าวค้านว่า ไม่ถูก ปางห้ามสมุทรยกมือเดียว ปางห้ามญาติยก ๒ มือ คือห้ามทั้งสองฝ่าย ต้องยก ๒ มือ ถ้ายกมือเดียว ก็ห้ามฝ่ายเดียว ไม่เป็นธรรม ฝ่ายที่ไม่ถูกห้ามก็จะได้ใจ แต่ฝ่ายถูกห้ามจะเสียใจ จะไม่เชื่อถือ แล้วสงครามก็จะไม่สงบ

ตามเหตุผลเรื่องหลังนี้แยบคายดีกว่า ถ้าเรียกพระพุทธรูปปางนี้รวมกันเป็นชื่อเดียวว่า "ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร" เรื่องก็น่าจะยุติ ด้วยสมเหตุสมผล ควรแก่การเชื่อถือ ตามนัยนี้ นอกจากผู้เชื่อถือจะไม่ถูกวิจัยว่าเชื่องมงายแล้ว ยังเป็นเกียรติอันสูงแก่พระบรมศาสดาที่ทรงพระมหากรุณาควรแก่การเทอดทูนของชาวโลกอีกด้วย

เรื่องพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติ เป็นพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ ๒ ข้างนี้ เข้าใจว่ามีนักปราชญ์สันนิษฐานว่าเป็นความจริงมาแล้ว แม้แต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องนี้ ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธจริยาตอนนี้ และได้ทรงสร้างขึ้นไว้ด้วยพระราชศรัทธาก็มี ทั้งดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะทรงให้เป็นคุณประโยชน์ดังเรื่องราวของพระพุทธรูปปางนี้ด้วย

ขอให้เรานึกทวนความจำอีกหน่อย คือ ลองนึกถึงภาพพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ห้ามสมุทรที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือนิยมเรียกว่าโบสถ์พระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังอีกสักครั้ง ทุกท่านที่เคยเข้าไปไหว้พระแก้วแล้ว ยังคงพอจะจำภาพพระพุทธรูปปางนี้ได้ทุกคน ทราบว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง เป็นพระขนาดใหญ่ทั้งสององค์ ซ้ำทำวิจิตรงดงาม บุด้วยทองคำหนักถึงองค์ละหลายสิบชั่ง ยังมีแบบไม่ทรงเครื่องขนาดก็ไม่เล็กนัก ดูเหมือนมีอีก ๑o องค์ อะไรเป็นเหตุให้สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งพระองค์ก็เป็นนักปราชญ์ ทรงซาบซึ้งถ่องแท้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทรงสร้างพระพุทธรูปปางนี้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ องค์เอกอัครศาสนูปถัมภกรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้น คงจะมีพระประสงค์ไม่เพียงเป็นที่สักการบูชาเท่านั้น เพราะถ้าเพียงเป็นที่สักการบูชาอย่างเดียวแล้ว เฉพาะพระแก้วมรกตก็น่าจะพอพระหฤทัย จุใจมหาชนชาวไทยดีแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้น ก็น่าจะทรงสร้างไว้หลาย ๆ ปาง และก็คงจะไม่ทรงสร้างเพื่อแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำอันจะไหลมาท่วมพระองค์เป็นแน่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะต้องแน่พระหฤทัยว่า พระปางนี้จะต้องเป็นปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร ดังที่ปรากฏในทางตำนาน และแม้ในพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดเสนาอำมาตย์ ทั้งนักปราชญ์ราชกวีในสมัยนั้น ส่วนมากคงจะต้องมีความเข้าใจอย่างนี้

เมื่อแน่ใจว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเข้าพระทัยว่า พระพุทธรูปที่ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นเป็นกิริยาทรงห้ามนั้น เป็นพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทรแล้ว คราวนี้ก็มาถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างต่อไปว่า พระองค์มีพระประสงค์อะไร ?

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ น่าจะมีพระประสงค์จะทรงฝากคติธรรมสำหรับเตือนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในโบสถ์พระแก้วเนือง ๆ ว่า "พระบรมวงศานุวงศ์อย่างทรงวิวาทแย่งสมบัติกันเลย" จะถึงความย่อยยับอย่างกษัตริย์ในสมัยอยุธยา โดยทรงขอเอาอานุภาพของพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปปางนี้ช่วยทรงเตือน ช่วยทรงห้าม ด้วยทรงหวั่นเกรงพระทัยอยู่มากว่า พระบรมวงศานุวงศ์จะเบาพระทัย ก่อการวิวาทเรื่องราชสมบัติขึ้น ในเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว เพราะในเวลานั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระทัยมั่นหมายจะให้เสวยราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ก็ยังทรงผนวชอยู่แต่ก็เป็นบุญบารมีดียิ่งของพระราชวงศ์จักรีที่มิได้มีเหตุการณ์อันไม่เป็นมงคลดังที่ทรงหวั่นเกรงพระทัยเกิดขึ้น จะว่าเป็นด้วยบารมีของพระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้ และอานุภาพของพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติทั้งสององค์ที่ทรงสร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีส่วนช่วยอภิบาลรักษาความสวัสดีของพระบรมราชจักรีวงศ์ด้วย ก็น่าจะมีส่วนแห่งความจริงอยู่ไม่น้อย ยิ่งกว่านั้น สมเด็จพระนั่งกล้าฯ ยังทรงถวายพระนามพระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์หนึ่ง พระพุทธเลิศหล้านภาลัย องค์หนึ่ง อันเป็นพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมอัยยกาธิราช และสมเด็จพระบรมชนกนารถ ต้นปฐมบรมจักรีวงศ์อีกด้วยซึ่งล้วนเป็นคุณเครื่องช่วยส่งเสริมพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงเคารพเชื่อถือเป็นอย่างดีอีกโสดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้สำเร็จสมพระราชปณิธานดังกล่าวแล้ว

ตามนัยนี้แสดงให้เห็นชัดว่า พระพุทธรูปลักษณะนี้ ต้องเป็นปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร และเป็นปางเดียวกันกับพระพุทธปางห้ามสมุทร ซึ่งควรจะเรียกว่าปางห้ามพระญาติมากกว่าเพราะสมเหตุสมผลตามเรื่องดังกล่าวแล้ว

คราวนี้ปัญหาก็ตามมาอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อะไรเป็นเหตุให้นิยมเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า "ปางห้ามสมุทร" ทำไมจึงไม่เรียกว่าปางห้ามพระญาติเสียแต่แรก

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ชะรอยเกรงจะไปพ้องกับพระพุทธรูปปางห้ามพยาธิเข้า ด้วยสำเนียงพูดคล้ายคลึงกันมาก ยิ่งสำเนียงพูดว่า พระ ของคนส่วนมากแล้ว สำเนียงตัว ร รักษากล้ำมักจะหายไป เป็นเสียง พะ เสียหมด ทั้งญา-ติ ก็นิยมอ่านว่าญาด อยู่แล้ว และ ยา-ธิ ก็นิยมพูดว่า ยาด เช่นโรคพยาธิปากขอ ไม่เห็นมีใครเรียกว่า พยา-ธิปากขอ หรือตัวพยาธิก็ไม่มีใครเรียกตัวพยา-ธิ เช่นเดียวกัน ดังนั้น พระพุทธรูปปางห้ามพยา-ธิ สำเนียงคนนิยมเรียกจึงเป็นสำเนียงว่า ปางห้ามพะยาด คล้ายกับสำเนียงเรียกพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะทำสงครามแย่งน้ำในสมุทรกัน

ดังนั้น จึงชอบที่จะสงวนชื่อของพระพุทธปางห้ามพระญาติไว้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติของพระพุทธรูปปางสำคัญนี้ปางหนึ่งให้สมบูรณ์แบบ และเพื่อเป็นศรีเป็นมิ่งขวัญควรแก่การเทอดบูชาสักการะ และก็โปรดทราบไว้ด้วยว่า พระพุทธรูปปางนี้ มิใช่ปางพระประจำวันจันทร์ ที่มักเข้าใจผิดไปว่าพระประจำวันจันทร์ เป็นพระปางห้ามญาติ หรือห้ามพระญาติ คือยกพระหัตถ์ขวาขึ้นห้ามข้างเดียว พระพุทธรูปปางห้ามญาตินั้น ต้องยกพระหัตถ์ขึ้นห้ามทั้ง ๒ ข้าง และเป็นปางเดียวกับพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรโดยเหตุผลดังกล่าวแล้ว

สำหรับพระพุทธรูปที่ถือเป็นพระประจำวันจันทร์นั้น ต้องเป็นพระปางห้ามพยาธิหรือจะเรียกว่า ห้ามพยาธิ์ ก็ตามเถิด เป็นพระยกพระหัตถ์ขวาขึ้นห้ามข้างเดียว ซึ่งก็มีเกียรติประวัติสำคัญมาก ควรแก่การเทอดทูนขึ้นเป็นศรีเป็นมิ่งขวัญ เป็นพระประจำวันจันทร์ยิ่งนัก แต่จะยังไม่กล่าวถึงในเวลานี้ จะเอาไว้กล่าวในตำนานพระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ ซึ่งนิยมเป็นพระประจำวันจันทร์.

จบตำนานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรแต่เพียงนี้.

ข้อมูลจากหนังสือ "ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ" นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)

 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 24,723,309