ปางที่ ๕๑
ปางป่าเลไลยก์
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งบนก้อนศิลาห้อยพระบาททั้งสอง ทอดพระบาทน้อย ๆ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุ เป็นกิริยาทรงรับ นิยมเรียกว่า " พระป่าเลไลยก์ "
พระพุทธรูปปางนี้ นิยมสร้างเป็นพระบูชาสำหรับคนเกิดวันพุธกลางคืน นับเข้าในเวลาพระราหูตามพิธีทักษา แม้คนที่มีอายุเข้าในเกณฑ์ดวงชะตาพระราหูเสวยอายุ ก็นิยมบูชาพระปางนี้ถือเป็นพระประจำเทวดานพเคราะห์
พระปางป่าเลไลยก์นี้ เฉพาะที่เป็นพระขนาดใหญ่ ดูจะหาชมยากเห็นมีอยู่องค์หนึ่งในพระวิหารวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี สูงถึง ๑๑ วา เป็นพระงามมากองค์หนึ่งทั้งยังบริบูรณ์ดีอยู่ เป็นพระสมัยอยุธยา อยู่ใกล้ทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้มีใจเป็นกุศลผ่านไปน่าจะแวะเข้าไปนมัสการ
ความจริง พระปางนี้คนที่สร้างขึ้นไว้สำหรับบูชา ส่วนมากนิยมสร้างช้างป่าเลไลยก์และลิงร่วมอยู่ด้วย โดยเหตุที่พระพุทธรูปปางนี้ จะได้นามว่าพระปางป่าเลไลยก์ ก็เพราะช้างป่าเลไลยก์เชือกนี้ ดังนั้น จึงมีธรรมเนียมให้สร้างช้างหมอบถวายกระบอกน้ำอยู่แทบพระบาท และลิงนั่งถวายรวงผึ้งเป็นนิมิตร
พระพุทธรูปปางนี้มีตำนานดังนี้
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ในเมืองโกสัมพี ทรงพระปรารภถึงพระภิกษุมากรูปด้วยกัน เป็นผู้ว่ายาก, วิวาทกัน, ไม่อยู่ในพระโอวาท ประพฤติตามใจตัวด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ ทรงพร่ำสอนด้วยประการต่าง ๆ แม้อย่างนั้นแล้ว พระพวกนั้นก็ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เคารพในพระโอวาท ยังวิวาทกัน เป็นฝักเป็นฝ่ายไม่สามัคคีกัน
พระบรมศาสดา ยังได้ทรงแสดงผลดีของการเคารพเชื่อฟังในพระโอวาท โดยทรงเล่าเรื่องทีฆาวุกุมารประทานเป็นตัวอย่างโดยพิสดารแล้วทรงประทานโสภณธรรม คือธรรมที่ทำให้งาม ๒ ประการ คือ ขันติ ความอดกลั้น, และ โสรัจจะ ความเสงี่ยมเจียมตัว พร้อมกับทรงเตือนซ้ำอีกว่า พวกเธอก็บวชในพระธรรมวินัยที่ตถาคตได้กล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้วก็ชอบที่จะเป็นคนอดทน, ประพฤติตามคำสอน, และ เสงี่ยมเจียมตนอยู่ในโอวาทจะได้เป็นผู้งามในธรรมวินัยนี้ แม้พระบรมศาสดาจะได้ทรงพระกรุณาพร่ำสอนถึงอย่างนี้แล้ว ก็ไม่สามารถจะทำให้สงฆ์สองพวกนั้นปรองดองดีกันได้
นี้แหละสมกับคำที่นักปราชญ์กล่าวว่า คนตามืดยังพอสอน คนใจมืดแล้วสอนไม่ได้ เพราะคนที่ใจมืดด้วย โมหะ, มานะ, ทิฏฐินั้น ไม่ยอมรับโอวาท คนอย่างนี้ไม่มีใครสอนได้ ดูเถิด แม้แต่พระพุทธเจ้า ประทับสอนอยู่ตรงหน้า เขาก็มองไม่เห็น, ฟังไม่ออก, นรกเท่านั้นที่จะเตือนสติเขาให้สำนึกผิด
ต่อมาพระบรมศาสดาทรงดำริว่า การอยู่ร่วมด้วยพระดื้อด้านพวกนี้ลำบาก มีพระประสงค์จะเสด็จหลีกไปอยู่ลำพังพระองค์เดียว จึงได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ไม่ทรงแจ้งให้พระภิกษุสงฆ์ทราบ ทรงบาตรจีวรของพระองค์เองโดยลำพัง เสด็จไปยังพาลกโลณการาม ทรงแสดงเอกจาริกวัตร (ระเบียบของการจาริกไปคนเดียว) แก่พระภคุเถระในที่นั้น จากอารามนั้นแล้วเสด็จไปแวะที่ปราจีนวังสะมฤคทายวัน ตรัสอานิสงส์สามัคคีรสประทานแก่กุลบุตร ๓ คน แล้วเสด็จเข้าไปประทับที่ร่มไม้ภัทระสาละพฤกษ์ในราวไพรรักขิตวัน โดยผาสุกวิหาร
สมัยนั้น มีพญาช้างเชือกหนึ่งชื่อปาลิไลยกะเป็นเจ้าแห่งโขลงช้างใหญ่เกิดเบื่อหน่ายบริวารช้างทั้งหลาย คิดว่า อยู่ร่วมด้วยบริวารช้างเหล่านี้เป็นความลำบาก ทุกครั้งที่น้าวกิ่งไม้หักลงมา บรรดาช้างพลาย, ช้างพัง, ช้างตะกอ, และลูกช้าง ก็แย่งกันหักยอดไม้กินเสียหมด คราวลงสู่บึงน้ำใส ช้างเหล่านี้ก็พากันลงทำให้น้ำขุ่น ต้องกินน้ำขุ่น ต้องเบียดเสียดกับช้างทั้งหลายไม่มีความสะดวกสบาย มีความประสงค์อยากอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพัง ครั้นเวลากลางคืนเมื่อช้างทั้งหลายหลับแล้ว พญาช้างปาลิไลยกะ ได้หนีออกจากโขลงแต่เชือกเดียว หาความสุขโดยลำพัง ครั้นเดินเที่ยวมาในชัฏป่าใหญ่ถึงที่ประทับของพระผู้มีพระภาค มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค นับแต่แรกที่ได้มองเห็นแต่ไกล จึงเดินเข้ามาใกล้หมอบถวายบังคมแทบพระยุคลบาทด้วยความเคารพรักพร้อมกับมอบกายถวายชีวิตรับเป็นภาระอยู่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าตลอดเวลา เริ่มต้นตั้งแต่หักกิ่งไม้มาปัดกวาดบริเวณนั้นให้สะอาด ถอนทิ้งต้นหญ้าและไม้เล็กไม้น้อยในบริเวณให้เตียน ไปตักน้ำใช้น้ำฉันมาถวายให้พระผู้มีพระภาค ได้สรงได้เสวยตามพระพุทธประสงค์อย่างสะดวกสบาย จัดหาผลไม้สุกในป่าเช่นกล้วยและขนุนมาถวายเวลาพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตในเวลาเช้า ก็เอาบาตรตามไปส่งพระพุทธเจ้าแทบประตูป่า และรออยู่จนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ รับบาตรจากพระหัตถ์ ตามพระพุทธเจ้ามาจนถึงที่ประทับปฏิบัติบำรุงพระพุทธเจ้าตามวิสัยของตนเป็นอย่างดีทุกประการ ครั้นเสร็จกิจปฏิบัติประจำวันแล้ว ก็หักกิ่งไม้ท่อนหนึ่งมาเป็นอาวุธ คอยพิทักษ์รักษามิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกลายตลอดเวลา
พระผู้มีพระภาค เสด็จประทับอยู่ด้วยความสงบสุข โดยอาศัยพญาช้างปาลิไลยกะบำรุงรักษา เพราะเหตุนี้ ชัฏป่านี้จึงได้นามว่า "รักขิตวัน" ตั้งแต่นั้นมา
วันหนึ่ง พญาลิงตัวหนึ่งเที่ยวมาตามยอดไม้โดยลำพัง และเห็นพญาช้างทำงาน ปฏิบัติพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพเป็นอย่างดีเช่นนั้น ก็พอใจ เกิดมีกุศลจิตคิดจะเข้าไปปฏิบัติพระพุทธเจ้าบ้าง เฝ้านั่งมองดูอยู่ว่าเราควรจะทำอะไรดี ทันใดนั้นเองมองเห็นรวงผึ้งจับอยู่บนปลายไม้ มีน้ำผึ้งรวงเต็มอยู่ ก็ดีใจคิดว่าน้ำผึ้งรวงนี้มนุษย์ชอบกินกัน ด้วยเคยเห็นพรานป่าพยายามขึ้นต้นไม้หักเอารวงผึ้งชนิดนี้ไปเสมอ ๆ เราควรจะเอารวงผึ้งนี้แหละไปถวายพระพุทธเจ้า ด้วยแปลกจากผลไม้ที่พญาช้างถวายอยู่แล้ว ครั้นคิดเช่นนั้นแล้ว ก็ปีนป่ายขึ้นยอดไม้ หักเอารวงผึ้งลงมา ไล่ตัวออกหมดแล้วก็น้อมเข้าไปถวายพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา แล้วนั่งเฝ้ามองดูอยู่ว่า พระพุทธเจ้าจะทรงพระกรุณาเสวยหรือไม่ ครั้นเห็นพระพุทธเจ้าเสวยน้ำผึ้งรวงจากรวงผึ้งที่ตนน้อมถวาย ก็มีความยินดีเบิกบานใจ กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจว่า ตนก็มีส่วนได้ทำบุญถวายน้ำผึ้งพระพุทธเจ้า มีความร่าเริงใจกระโจนจากกิ่งไม้นี้ ไปจับกิ่งไม้โน้น แสดงความยินดีตามวิสัยสัตว์ที่ได้ทำบุญสมความประสงค์.
การที่พระศาสดาได้เสด็จประทับอยู่ในป่ารักขิตวัน โดยลำพังพระองค์เดียว อยู่ด้วยการทำนุบำรุงของพญาช้างปาลิไลยกะนี้ ได้ปรากฏเป็นเรื่องสำคัญ รู้กันทั่วไปในชมพูทวีป
หลังจากพระผู้มีพระภาค เสด็จจากโฆสิตาราม มาประทับอยู่ป่ารักขิตวันแล้วไม่นาน อุบาสกอุบาสิการวมทั้งคนใจบุญชาวเมืองโกสัมพีเป็นอันมาก ได้เข้าไปพระวิหารเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นไม่พบ และได้สืบถามได้ความดีแล้วต่างคนก็ต่างมีความน้อยใจ พากันตำหนิติเตียนพระพวกนั้นเป็นอย่างมากว่า พวกท่านบวชในสำนักพระศาสดา เมื่อพระศาสดาประทานโอวาทแนะนำให้สามัคคีกัน ก็ดื้อ, ไม่อยู่ในพระโอวาท ร้ายมาก, ทำให้พระองค์ต้องเดือดร้อน หลบหนีไปอยู่ป่าแต่พระองค์เดียว ให้พวกฉันขาดจากบุญกุศลที่ควรจะได้ถวายบังคมและได้ฟังธรรมจากพระองค์ เพราะพวกท่านเป็นเหตุ ตั้งแต่นี้ไปพวกฉันจะไม่บำรุงท่าน จะไม่ต้อนรับ จะไม่ไหว้ ไม่กราบ จะไม่ทำดีต่อทุก ๆ ประการ แล้วต่างก็เพิกเฉยหันหลังให้ภิกษุเหล่านั้น
เมื่อพระเหล่านั้นไม่ได้รับการบำรุงจากคนทั้งหลาย ไม่กี่วันก็ซูบผอมเพราะอดอยากปากแห้ง, หมดแรงดื้อด้าน เล็งเห็นโทษของการทะเลาะ โทษของการไม่อยู่ในพระโอวาท หัวโตเป็นเปรตไปตาม ๆ กัน ถูกไฟนรกในมนุษย์บีบคั้น สิ้นพยศร้าย ต่างรูปต่างยอมรับผิด ยอมอดโทษให้แก่กันและกันและประพฤติดีต่อกันเป็นปกติ แล้วพากันเข้าไปหาอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นสารภาพผิดว่า ท่านทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าสามัคคีดีกันแล้ว ขอท่านทั้งหลาย จงอุปถัมภ์บำรุงอย่างแต่ก่อนเถิด ก็พระคุณท่านได้ทูลขอให้พระศาสดาทรงอดโทษให้แล้วหรือยังเล่า? ยังท่านอุบาสก ถ้าเช่นนั้น พระคุณท่านจงไปทูลขอให้พระองค์ทรงอดโทษให้เสียก่อน เมื่อพระศาสดาทรงอดโทษให้แล้วพวกกระผมจึงจะถวายการอุปถัมภ์บำรุงเช่นเดิม บังเอิญเวลานั้นยังอยู่ภายในพรรษา พระพวกนั้นไม่อาจไปเฝ้าพระศาสดาได้จำต้องอดใจ ทนต่อการลงโทษของอุบาสกอุบาสิกาด้วยการให้อดอยากปากแห้งจนออกพรรษาด้วยความทุกข์ยากอย่างยิ่ง
ครั้นออกพรรษาแล้ว บรรดาตระกูลเศรษฐีคฤหบดีใหญ่ ๆ ในพระนครสาวัตถี มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านมหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นต้น ได้ส่งหนังสือมาถวายพระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐากว่า ขอให้พระอานนท์ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้เสด็จไปพระนครสาวัตถีให้ด้วย แม้ภิกษุตามชนบทต่าง ๆ ประมาณ ๕oo รูป ก็พากันเดินทางไปหาพระอานนทเถระ วอนว่า ท่านอานนท์ นานแล้วพวกกระผมไม่ได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค ขอท่านได้กรุณาให้พวกกระผมได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรมด้วยเถิด พระเถระเจ้าได้พาภิกษุเหล่านั้นเดินทางไปยังป่ารักขิตวัน ครั้นถึงป่านั้นแล้วกลับคิดได้ว่า เรายังไม่ควรจะพาภิกษุทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ซึ่งเสด็จประทับอยู่ลำพังพระองค์เดียวก่อนที่ยังมิได้กราบทูลขอประทานโอกาส จึงให้พระทั้งหมดนั้นพักอยู่นอกป่าก่อน แล้วพระเถระเจ้าได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแต่องค์เดียว พอช้างปาลิไลยกะแลเห็นพระเถระเจ้าก็เอื้อมงวงหยิบท่อนไม้วิ่งเข้าใส่ทันที พระศาสดาทอดพระเนตรเห็น จึงรับสั่งว่า หยุด! ปาลิไลยกะ อย่าห้ามท่านเลย ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก ช้างปาลิไลยกะวางท่อนไม้ทันที เดินตรงเข้าไปขอรับบาตรจีวร พระเถระเจ้าไม่ยอมให้ ช้างปาลิไลยกะคิดว่า ถ้าท่านรูปนี้มีการศึกษาขนบธรรมเนียมมาดีแล้วจะต้องไม่วางบริขารของตนลงบนแผ่นหินที่ประทับของพระศาสดา ครั้นเห็นพระเถระเจ้าวางบาตรจีวรของท่านบนพื้นดินก็มีความเลื่อมใส ถวายความเคารพรักใคร่ในพระเถระเจ้าเป็นอันดี
พระเถระเจ้าถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่งอยู่ในที่อันควรข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์, เธอมารูปเดียวเท่านั้นหรือ มากับพระ ๕oo รูป พระเจ้าข้า ก็แล้วพระเหล่านั้นอยู่ที่ไหนเล่า ข้าพระองค์ยังไม่ทราบพระประสงค์ จึงได้ให้ท่านพักรออยู่ข้างนอก พระเจ้าข้า ให้เขาเข้ามาพบได้ อานนท์! พระเถระเจ้าได้จัดให้เป็นไปตามพระบัญชา ครั้นภิกษุทั้งหลายได้เข้าเฝ้า ได้รับการปฏิสันถารจากพระศาสดาเป็นอันดีแล้ว ได้กราบทูลสรรเสริญพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ เสด็จประทับอยู่พระองค์เดียวโดยลำพังตลอดไตรมาสอย่างนี้ ทำได้ยากยิ่ง พระเจ้าข้า ผู้ถวายการปฏิบัติก็ดี ผู้ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ก็ดี เห็นจะไม่มี พระเจ้าข้า
พระศาสดาทรงรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ธุรกิจของฉันทุกอย่างช้างปาลิไลยกะเขาช่วยทำให้ ความจริง การอยู่ร่วมกันควรจะได้เพื่อนเช่นนี้ เมื่อหาเพื่อนเช่นนี้ไม่ได้เที่ยวไปคนเดียวดีกว่า แล้วทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุเหล่านั้น โดยพระคาถาว่า :-
ถ้าบุคคลได้สหายที่มีความรู้ รักษาตัวได้ มีปัญญารักจะอยู่ร่วมกับคนดี เป็นเพื่อนร่วมทางเขาก็ควรจะยินดี มีสติย่ำยีอันตรายรอบ ๆ ข้างทั้งปวงเสีย แล้วเที่ยวไปกับสหายผู้นั้น ถ้าหากไม่ได้สหายเช่นนั้น ก็ควรทำตนดังพระราชาที่ทรงละแว่นแคว้นเสด็จเที่ยวไปแต่ลำพังองค์เดียว เหมือนพญาช้างมาตังคะ เที่ยวไปในป่าโดยลำพังฉะนั้น การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่าเพราะคนพาลเป็นสหายไม่ได้ (คนพาลคบใครไม่จริง) ในรูปการณ์เช่นนี้ควรจะเที่ยวไปคนเดียว และไม่ควรกระทำบาป ควรจะเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เหมือนพญาช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าตามลำพังฉะนั้น.
ในเวลาจบคาถาธรรมภาษิต ภิกษุ ๕oo รูปเหล่านั้น ได้ดำรงอยู่ในอรหัตตธรรม.
พระอานนทเถระเจ้าได้กราบทูลพระศาสดาว่า เวลานี้อริยสาวกในนครสาวัตถี ประมาณ ๕ โกฏิ มีท่านอนาถบิณฑิกะเป็นประมุข ได้ส่งสาส์นแจ้งว่า ท่านมีความหวังเป็นอย่างมากต่อการเสด็จไปของพระองค์ พระศาสดาทรงรับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นก็ควรจะไป อานนท์ เตรียมการไปได้แล้ว ทันใดนั้น พญาช้างปาลิไลยกะ ได้เดินเข้าไปขวางทางไว้ ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลถามว่า ช้างปาลิไลยกะมีความประสงค์อะไร พระเจ้าข้า เขามีความหวังจะใคร่ถวายภักษาแก่พวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย, ปาลิไลยกะได้อุปการะฉันมาเป็นเวลานานไม่ควรจะขัดใจเขา กลับกันเสียก่อนเถิดภิกษุทั้งหลาย, ครั้นรับสั่งแล้ว ทรงพาพระทั้งหลายกลับเข้าไปประทับยังที่เดิม ต่อนั้น ช้างปาลิไลยกะ ก็เข้าป่ารวบรวมผลไม้ต่าง ๆ มีขนุนและกล้วย เป็นต้น ขนไปยังที่พัก ครั้นรุ่งขึ้นได้จัดถวายภิกษุทั้งหมด ปรากฏว่าหลังจากภิกษุสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ผลไม้ยังเหลืออยู่อีกเป็นอันมาก
ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาก็ทรงนำพระสงฆ์ทั้งหลาย เสด็จดำเนินออกจากที่นั้น ช้างปาลิไลยกะได้เดินตามพระศาสดาออกไปพร้อมกับพระสงฆ์ทั้งหลาย ครั้นเดินไปได้หน่อยก็ยืนขวางทางข้างหน้าพระศาสดาอีกภิกษุทั้งหลายทูลพระศาสดาว่า ช้างปาลิไลยกะมีความประสงค์อะไรฯ พระเจ้าข้าฯ เขาต้องการจะให้ส่งพวกเธอไปแล้วขอให้ฉันกลับน่ะซีฯ ถึงอย่างนั้นเจียวหรือพระเจ้าข้าฯ ใช่, เขาไม่ประสงค์จะให้ฉันจากไปฯ ลำดับนั้นจึงได้ตรัสกับช้างปาลิไลยกะว่า ปาลิไลยกะ, ฉันไปครั้งนี้แล้วจะไม่กลับมาอีก ในชาตินี้เธอจะยังบรรลุฌาน, วิปัสสนา, หรือมรรคผลอะไร ๆ ไม่ได้หรอก? ปาลิไลยกะอย่าคิดอะไรให้มากน๊ะ ช้างปาลิไลยกะฟังพระพุทธเจ้าตรัสแล้วหลีกทางให้เสด็จไป ตนเองเอางวงยัดเข้าไปในปาก ร้องไห้เดินตามหลังพระศาสดาไป ความจริงช้างปาลิไลยกะมีความยินดีที่จะปฏิบัติพระศาสดาตลอดชีวิตของเขาด้วยความเคารพ
ครั้นพระศาสดาเสด็จถึงคามุปจาร (เขตแดนหมู่บ้าน) นั้น จึงหันพระพักตร์มาปราศรัยด้วยช้างปาลิไลยกะว่า ปาลิไลยกะ, ตั้งแต่ที่ตรงนี้ไปไม่ใช่ดินแดนของเธอเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มีอันตราย หยุดแต่เพียงเท่านี้เถอะน๊ะ ปาลิไลยกะ แล้วทรงนำพระสงฆ์ดำเนินต่อไป ช้างปาลิไลยกะยืนร้องไห้ มองดูพระศาสดาอยู่ ณ ที่นั้น พอพระศาสดาเสด็จลับสายตาไป ช้างปาลิไลยกะก็พลันหัวใจวายล้มลงตาย ณ ที่นั้นทันที ด้วยกุศลแห่งความเลื่อมใสในพระศาสดา ปาลิไลยกะก็ได้บังเกิดเป็นเทพเจ้าในสรวงสวรรค์มีนามว่า "ปาลิไลยกะเทพบุตร" ส่วนพระศาสดาเมื่อเสด็จไปโดยลำดับ ก็ถึงพระเชตวันวิหาร ในพระนครสาวัตถีโดยสวัสดี
เมื่อภิกษุชาวเมืองโกสัมพีพวกนั้น ทราบข่าวว่าพระศาสดาเสด็จถึงเมืองสาวัตถีแล้วก็ดีใจ พร้อมกันเดินทางไปเฝ้า เพื่อขอให้พระองค์ทรงอดโทษให้ ครั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทราบข่าวว่า พวกภิกษุที่ก่อความแตกร้าวในโกสัมพีกำลังเดินทางเข้ามาก็เสด็จไปทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะไม่ยอมให้พระพวกนั้น เข้ามายังแว่นแคว้นของหม่อมฉันฯ พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร! พระเหล่านั้นมีศีลเพราะการวิวาทกันอย่างเดียวจึงไม่รับโอวาทของอาตมา แต่บัดนี้เธอรู้สึกผิดชอบแล้ว พากันมาประสงค์จะให้อาตมาอดโทษให้ ขอให้พระเหล่านั้นมาเถิด มหาบพิตร, แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างวัดเชตวันวิหาร ก็ได้เข้าเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ามิให้พระพวกนั้นเข้าวิหารเช่นเดียวกัน ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจดีแล้ว ก็อนุวัตรตามพระบัญชา
เมื่อพระชาวเมืองโกสัมพีเหล่านั้นมาถึงเมืองสาวัตถีแล้ว พระศาสดาก็โปรดให้จัดเสนาสนะที่สงัดในส่วนข้างหนึ่งให้เป็นที่พัก บรรดาพระสงฆ์ต่างถิ่นทราบเรื่องนี้เข้าก็ไม่นั่งร่วม ไม่ยืนร่วมด้วยพระสงฆ์พวกนี้ พระต่างถิ่นที่มาเฝ้าพระศาสดาอีกก็พากันทูลถามว่าพระพวกไหน พระเจ้าข้า ที่ก่อความแตกร้าวกันขึ้นในเมืองโกสัมพี พระศาสดาตรัสบอกว่า พวกนี้แหละภิกษุ พวกนี้แหละภิกษุ ตลอดเวลาที่ภิกษุพวกนั้น ถูกพระศาสดาชี้พระหัตถ์ตรัสบอกว่าเป็นพวกก่อความแตกร้าวอยู่เช่นนี้ ได้รับความอัปยศมาก ไม่อาจยกศีรษะขึ้นมองดูอะไร ๆ ได้ หมอบลงกราบแทบพระยุคลบาทพระบรมศาสดา ทูลขอให้พระองค์ทรงพระกรุณาอดโทษให้
พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทำกรรมหนักมาก พวกเธอบวชในสำนักพระพุทธเจ้าอย่างฉัน และเมื่อฉันเตือนให้สามัคคีกัน พวกเธอก็ดื้อไม่ทำตาม เป็นความผิดหนักมาก แล้วทรงแสดงอานิสงส์ของการเป็นผู้ว่าง่าย การอยู่ในโอวาท ให้เกิดประโยชน์มาก ได้ทรงแสดงเรื่องพระเจ้าทีฆาวุ ที่ทรงมั่นอยู่ในพระโอวาทของพระชนก ภายหลังได้เป็นกษัตริย์ปกครองราชสมบัติทั้งสองแว่นแคว้น แล้วตรัสพระธรรมเทศนาโดยพระคาถาว่า :-
คนเหล่าอื่นเขาไม่มีความรู้สึกอย่างไร แต่พวกเรากำลังย่อยยับ, ป่นปี้, เมื่อคนเหล่าใด ในหมู่นั้น เกิดรู้จริงเห็นแจ้งว่า พวกเรากำลังวอดวาย เมื่อนั้นความทะเลาะกัน วิวาทกัน ก็ย่อมสงบลงได้ เพราะการปฏิบัติถูกของคนเหล่านั้น
ในเวลาจบพระโอวาท ภิกษุที่ประชุมอยู่ ณ ที่นั้น ได้ดำรงอยู่ในอริยผลเป็นอันมาก
จบตำนานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์แต่เพียงนี้.
ข้อมูลจากหนังสือ "ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ" นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)